วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สยาม ประเทศแรกในเอเชียที่มีรถราง


สยาม ประเทศแรกในเอเชียที่มีรถราง
ตอนที่สร้างถนนเจริญกรุงหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "นิวโรด (New Road)" เสร็จในปี พ.ศ. 2407 มีผู้นิยมใช้สัญจรไปมามาก ฝรั่งหัวใส 2 คน ชื่อ จอห์น ลอฟตัส เป็นชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการ เป็นช่างทำแผนที่กับอันเดรีย ดูเปล ริเตธิเชอเลียว ชาวเดนมาร์ก ซึ่งเข้ามารับราชการ เป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี สังกัดกองทัพเรือ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาชลยุทธโยธี เห็นว่าถ้าเปิดเดินรถโดยสาร ในถนนสายนี้ ก็จะเป็นธุรกิจที่ดีไม่น้อย และเพื่อให้แน่ใจ จึงทำการสำรวจ หาตัวเลขกันก่อน

วิธีการที่ฝรั่งทั้ง 2 ชาติ เอามาสำรวจนี้ นับว่าเก๋ไก๋ไม่เบา โดยเอาเม็ดมะขามใส่ชามใหญ่วางไว้ตรงกลาง แล้วเอาชามย่อมลงไปหน่อยมาอีก 2 ใบ วางไว้ข้างละใบ เมื่อคนเดินไปทางขวา ก็หยิบเม็ดมะขามใส่ลงไปในชามขวา เมื่อคนเดินไปทางซ้าย ก็หยิบเม็ดมะขามใส่ลงไปในชามซ้าย ทำการสำรวจอยู่แบบนี้อยู่ถึง 3 วัน จึงได้ตัวเลขว่า มีคนขึ้นล่องในนิวโรด วันละเท่าไร ซึ่งคงจะเป็นตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียว เขาจึงร่วมกัน ยื่นขอสัปทานเดินรถรางหรือ "แตรมเวย์" (Tramway) คนไทยเรียกว่า "รถแตรม" ในปี พ.ศ. 2430 โดยยื่นรวม 7 สายทั่วกรุง เพื่อกันคนอื่นตามด้วย รัฐบาลได้ให้สัมปทานเป็นเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องสร้างสายที่ 1 ให้เสร็จภายในเวลา 5 ปี ส่วนอีก 6 สาย ต้องสร้างให้เสร็จในเวลา 7 ปี

รถรางสายแรกเปิดบริการในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยเริ่มต้นจากบางคอแหลม ถนนตก ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสวนอยู่ มาตามถนนเจริญกรุง สุดปลายทางที่ศาลหลักเมือง ข้างศาลายุทธนาธิการ หรือกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน เป็นระยะทาง 6 ไมล์ (ประมาณ 10 - 12 กิโลเมตร) ใช้รถเล็ก 4 ล้อ เทียมด้วยม้า 2 คู่ และมีสถานีเปลี่ยนม้าเป็นระยะ แต่เมื่อคนเต็มคัน ม้าก็ต้องออกแรงลาก จนน้ำลายฟูมปาก ยิ่งตอนขึ้นสะพานบางทีม้าก็ลากไม่ไหว เป็นภาพที่น่าสงสารเป็นอันมาก

ต่อ ๆ มาคนก็ขึ้นรถรางน้อยลงทุกที อาจจะเป็นเพราะคนไทยเรา เป็นคนขี้สงสาร ไม่อยากจะทรมานทารุณม้าก็เป็นได้ อีกทั้งค่ารถราง ในตอนนั้นก็แพงไม่เบา เก็บ 6 อัฐต่อระยะ 3 ไมล์ ส่วนผู้ที่นั่ง 'ผู้ที่นั่งอย่างวิเศษ' หรือชั้นพิเศษ เก็บอีกเท่าตัว เป็น 12 อัฐ ซึ่ง 63 อัฐ เท่ากับ 1 บาท

เมื่อรถรางขาดทุน สองผู้บุกเบิก ก็ไปไม่ไหว ต้องขายกิจการ ให้บริษัท บางกอกแตรมเวย์ ซึ่งเป็นของคนอังกฤษดำเนินการต่อ โดยยังคงใช้ม้า ลากตามเดิม แล้วม้าก็ลากบริษัทรถรางไปไม่ไหวอีกราย ต้องขายต่อในปี พ.ศ. 2435

ผู้ดำเนินกิจการรถรางรายใหม่ เป็นบริษัทของคนเดนมาร์ก ซึ่งได้พัฒนามาใช้ไฟฟ้ารแทนม้าลาก โดยขึงสายไฟเปลือย เหนือรางไปตลอด มีสาแหรกเป็นแท่งเหล็กยากติดบนหลังรถ ขึ้นไปรับกระแสไฟฟ้าจากมาเข้าเครื่อง เมื่อเปิดเดิน เครื่องจะไม่ไอ และแสงพุ่งแปลบออกมาที่หน้ารถ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "รถไอ"

กิจการรถรางไฟฟ้าได้รับความนิยม ทำกำไรให้บริษัทมาก ในปี พ.ศ. 2448 เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน จึงติดตั้งบริษัทรถรางแข่งกับฝรั่งบ้างในชื่อ บริษัท รถรางไทยทุน จำกัด ได้สัมปทาน 2 สาย คือ สายรอบเมือง และสายดุสิต วิ่งจากยศเส สะพานดำ เสาชิงช้า บางลำภู จนถึงสวนดุสิต ใช้รถแบบเดียวกัน แต่ทาสีแดง เพื่อให้แตกต่างจากของบริษัทฝรั่ง ซึ่งทาสีเหลือง แต่ต่อมา ก็ต้องรวมกันเป็นบริษัทเดียว ทาสีเหลืองคาดแดง จนหมดสัมปทาน ตกมาเป็นของรัฐบาล ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493

ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ เจริญขึ้น มีรถยนต์วิ่งกันขวักไขว่ รถราง ก็กลายเป็นเครื่องกีดขวางการจราจร ถูกยุบลงทีละสายสองสาย จนเลิกเด็ดขาดเมื่อวันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 คงเหลือแต่ที่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 แต่ต่อมา ก็ต้องเลิกไปอีก ในปี 2506 หลังจากใช้อยู่ 8 ปี ด้วยสาเหตุเดียวกับในกรุงเทพฯ คือกีดขวางการจราจร รถรางไฟฟ้าจึงสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ส่วนตัวรถปัจจุบัน ได้นำมาใช้ในการท่องเทีี่ยว โดยติดเครื่องยนต์ราก เช่น ในกรุงเทพฯ ก่อนจะเกิดใหม่มาเป็นเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าในปัจจุบัน

ที่มา allknowledges

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น