วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ซาไก หนึ่งในชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนสยาม


ซาไก หนึ่งในชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนสยาม

ซาไก เป็นมนุษย์โบราณอาจจะที่มีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน ประมาณ 1,500– 10,000 ปีมาแล้ว รูปร่างเตี้ยมีผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศีรษะ ชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือเนกริโต ตระกูลออสโตร-เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว 7-60 คน ในรัฐเกดะห์ มาเลเซีย ในส่วนลึกของนิวกินี ฟิลิปปินส์และหมู่เกาะอันดามัน เรียกตนเองว่า “มันนิ” (Mani) ส่วนผู้อื่นเรียกว่า เงาะ เงาะป่า ชาวป่า ซาแก หรือ โอรัง อัสลี (Orang Asli) หรือ กอย

สำหรับในประเทศไทยเงาะป่า หรือซาไก เป็นชนเผ่าดั้งเดิม หรือมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยตามแนวเขานครศรีธรรมราช ทิวเขาสันกาลาคีรี และทิวเขาภูเก็ต ทิวเขาทั้งสามถือเป็นกระดูกสันหลังของภาคใต้

ชาวพื้นเมืองกลุ่มนี้ยึดครองเป็นเจ้าของถิ่นมาช้านานแล้ว เมื่อหลายร้อยปีก่อน ปรากฎหลักฐานพอเชื่อถือได้ว่า มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ ตามจังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง รวม 9 จังหวัด

ชนกลุ่มนี้มีเพียงภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนหรือตัวอักษร คำศัพท์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ปัจจุบันพบการใช้คำศัพท์จากภาษาไทยภาคกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายูถิ่น

เดิมทีชาวซาไกเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันนี้ ปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงภายนอก ทั้งทางด้ายกายภาพและสังคม ได้เปลี่ยนแปลงให้ชนกลุ่มนี้มีลักษณะการดำรงชีวิต เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้ายอพยพหาของป่าล่า-สัตว์แบบดั้งเดิม, กลุ่มหาของป่า-ล่าสัตว์กึ่งสังคมหมู่บ้าน, กลุ่มสังคมหมู่บ้านเต็มรูปแบบ

ทุกวันนี้อาศัยอยู่ไม่กี่จังหวัด เช่น ตรัง สตูล พัทลุง ยะลา นราธิวาส สงขลา สมัยก่อนทิวเขาเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์ ผลไม้ป่า สัตว์ป่า ทำให้พวกเงาะป่า หรือซาไก อยู่อย่างสะดวกสบาย พวกนี้จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม เดินทางเร่ร่อน ตามรอยต่อของจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา และเตลิดเปิดเปิงไปยะลา ข้ามเขตไปประเทศมาเลเซีย เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย ความอุดมสมบูรณ์ลดลงเป็นอันมาก ชาวป่าไม่มีที่อยู่อาศัย กลุ่มใหญ่เข้าป่าไปอยู่มาเลเซีย เพราะป่ายังอุดมสมบูรณ์ กลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนเมืองทางราชการจัดที่ให้ อาศัยเป็นหลักแหล่งที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

สำหรับในภาคใต้ของประเทศไทยมีซาไกอยู่สี่กลุ่มรวมประมาณ 200 คน คือ
1.ซาไกกันซิว อยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา
2.ซาไกยะฮาย อยู่ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
3.ซาไกแตะเดะหรือเยแด อยู่ บริเวณภูเขาสันกาลาคีรีแถบจังหวัดยะลาและอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
4.ซาไกแต็นเอ็น อยู่บริเวณเขาบรรทัดแถบคลองตง คลองหินแดง บ้านเจ้าพะและถ้ำเขาเขียด อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง(ประมาณ 100 คน) จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูล

ซาไกที่อาศัยอยู่ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยใช้ชื่อสกุลว่า "ศรีธารโต" แต่ปัจจุบันซาไกธารโตส่วนใหญ่ได้อพยพไปอยู่ในมาเลเซีย ด้วยเหตุผลด้านที่ทำกินและวิถีชีวิตที่ดีกว่า ประกอบกับเหตุผลด้านความไม่สงบ

ปัจจุบันชาวเงาะป่า หรือซาไก ในจังหวัดสตูลได้พัฒนาตนเองเป็นคนเมือง เช่น ลูกสาวแต่งงานกับชาวบ้านชาวเงาะป่า หรือ ซาไก เดินทางขายสมุนไพรในตลาดนัด พบปะผู้คนชาวเมือง ผู้ชายหัวหน้าชอบดื่มเหล้าขาว เมามายนอนกลิ้งตามบ้านเรือน หรือร้านค้าในตลาด พฤติกรรมที่เป็นคนป่าเปลี่ยนไป สวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงยีน ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ซื้อข้าวห่อ พวกที่อยู่ยะลาพัฒนาขึ้นมาก เช่น ในบ้านที่ทางราชการจัดให้ มีไฟฟ้าใช้ หม้อข้าวไฟฟ้า ตู้เย็น พัดลง โทรทัศน์ มีเกือบทุกบ้าน ลูก ๆ เข้าเรียนหนังสือ

นับวันวิถีชีวิตของเงาะป่า หรือซาไก กำลังถูกกลืนโดยสังคมที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพประกอบ: เงาะซาไก ถ่ายที่บ้านโต อ.ธารโต จ.ยะลา พ.ศ.2496 ขอบคุณภาพจากเพจยะลาเมื่อวันวาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น