วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต


พิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต

พิธีโล้ชิงช้า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระยายืนชิงช้า ไปถึงเสาชิงช้า ก็จะเข้าไปนั่งในโรงราชพิธี จากนั้นให้ผู้ที่จะโล้ชิงช้าขึ้นชิงช้าทีละ 4 คน(โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน มือสอดเชือกไว้ อีกสองคนอยู่หัวท้ายมีเชือกจับมั่นคง ถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง

ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น คนที่อยู่หัวกระดานเป็นคนฉวย โดยเงินนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ "ตีปีก" เชียร์กันอย่างสนุกสนาน

การโล้ชิงช้านี้สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮา จากคนดูได้

พราหมณ์โล้ชิงช้าแล้วก็ตกลงมาตายทุกปีเป็นที่น่าหวาดเสียวมาก แต่พวกเขาถือว่าได้บุญมากก็เลยไม่ค่อยกลัวตายกัน
ต่อมาก็ทอนเสาให้สั้นลงก็ยังตกลงมาตายอีก ก็เลยต้องยกเลิกไปในที่สุด สำหรับเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ถ้าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูก "ฝัง" ไว้ที่ใต้ชิงช้านั้น เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีการตกหรือได้ฝังใครเลย และไม่มีตำราเล่มไหนบอกไว้ทั้งนั้น คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดๆ ติดมาจากการฝังหลักเมืองมากกว่า


พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่1 และได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น