วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อนุสาวรีย์วีรไทย ความกล้าหาญของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่2


อนุสาวรีย์วีรไทย ความกล้าหาญของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่2

“อนุสาวรีย์วีรไทย” หรือจ่าดำ,พ่อจ่าดำตั้งอยู่ภายในค่ายวชิราวุธ(กองทัพภาคที่4) ถนนราชดำเนิน เป็นอนุสาวรีย์ที่หล่อด้วยทองแดงรมดำ เป็นรูปทหารเตรียมรบสองมือจับปืนติดดาบเตรียมแทง ขนาดเท่าครึ่งของคนจริง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับยุวชนทหารและทหารไทยที่เสียชีวิตจากการรบกับทหารญี่ปุ่นใน “สงครามมหาเอเซียบูรพา”เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าบรรดาทหารหาญที่พลีชีพ ต่อสู้ข้าศึก เพื่อปกป้องมาตุภูมิ ชาวนครศรีธรรมราชให้ความเคารพนับถือองค์พ่อจ่าดำเป็นอย่างมากจะมีการมาบนบานศาลกล่าวต่อองค์พ่อจ่าดำเป็นประจำ และทุกๆวันอังคารและวันเสาร์ก็จะพบเห็นผู้คนมาสักการะเพื่อเป็นการแก้บนหลังได้รับสิ่งที่ขอแล้ว

ในสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เหตุการณ์การสู้รบในวันนั้น กองทัพไทยต้องสูญเสียกำลังทหาร และยุวชนทหารช่วยรบในจังหวัดปัตตานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมกว่า 100 นาย ดังปรากฏนามจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ทั้ง 6 ด้านอนุสาวรีย์จ่าดำ หรืออนุสาวรีย์วีรไทย ยังยืนตระหง่านบนจุดที่ได้สู้รบปกป้องปฐพีไทยสืบมา

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับญี่ปุ่นที่โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพร้อมกันที่สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และปราจีนบุรี โดยที่ฝ่ายไทยไม่คาดคิด

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของภาคใต้ คือมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลานั้นมีพลตรีหลวงเสนาณรงค์เป็นผู้บัญชาการมณฑล เช้าวันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์ นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบประมาณ 15 ลำ มาลอยลำในอ่าวสงขลา และได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลา พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการรับศึกและสั่งให้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองทัพสงขลาโดยด่วน ขณะเตรียมการอยู่นั้น ก็ได้รับแจ้งจากพลทหารว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน ผู้บัญชาการมณฑลจึงสั่งการให้ทุกคนทำการต่อสู่เต็มกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด

การสู้รบระหว่างทหารไทย ยุวชนทหาร กับทหารญี่ปุ่นเป็นไปในลักษณะประจัญหน้า ผบ.มณฑล ได้สั่งการให้เปิดคลังแสงและจ่ายอาวุธปืนเล็ก ปืนกล และปืนประสุนให้แก่ทุกคนที่ยังไม่มีอาวุธประจำกาย และประกาศให้ทุกคนทำการสู้อย่างเต็มสติกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด ผู้ที่ไม่มีผู้บังคับบัญชาแน่นอน ก็ให้เข้าสมทบกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งซึ่งประจำอยู่ตามแนวต่างๆ ในหน่วยร.17 พอคำสั่งด้วยวาจาไม่ว่าจะเป็นคำสั่งประกาศขาดคำลง ผู้รับคำสั่งทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่าได้รีบลงมือปฏิบัติตามโดยทันที โดยมิได้มีการสะทกสะท้านหวาดกลัว หรือแสดงอาการตื่นเต้นลังเลแม้แต่น้อย

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ของร้องรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการ ต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมี จอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทย

เวลาประมาณ 11.00 น. เศษ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับสำเนาโทรเลขคำสั่งให้ยุติการรบ การต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจึงสงบลง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 สั่งให้นำกำลัง ยุวชนทหารกลับ และติดต่อให้ญี่ปุ่นส่งผู้แทนมาเจรจา เพื่อตกลงกันในรายละเอียด ผลการเจรจายุติการรบ โดยสรุป มีดังนี้

1. ญี่ปุ่นขอให้ถอนทหารไทยจากที่ตั้งปกติไปให้พ้นแนวคลองสะพานราเมศวร์ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพราะญี่ปุ่นต้องการใช้สนามบินโดยด่วน
2.ในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยอาศัยตาม โรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการเป็นต้น
3. ฝ่ายไทยขอขนอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุน และวัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม
4. ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่ได้มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย

ฝ่ายไทยสูยเสียชีวิต 38 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 3 คน นายทหาร 3 คน พลทหาร 32 คน ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ทราบจำนวน ภายหลังเสร็จสิ้นสงครามมหาเชียบูรพา ประชาชนและข้าราชการได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ วีรไทย(พ่อจ่าดำ) เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึก ซึ่งออกแบบปั้นโดยนายสนั่น ศิลากรณ์ ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยนั้น และได้ประดิษฐานในค่าย วชิราวุธเมื่อ พ.ศ.2492

1 ความคิดเห็น: