วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อนุสาวรีย์วีรไทย ความกล้าหาญของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่2


อนุสาวรีย์วีรไทย ความกล้าหาญของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่2

“อนุสาวรีย์วีรไทย” หรือจ่าดำ,พ่อจ่าดำตั้งอยู่ภายในค่ายวชิราวุธ(กองทัพภาคที่4) ถนนราชดำเนิน เป็นอนุสาวรีย์ที่หล่อด้วยทองแดงรมดำ เป็นรูปทหารเตรียมรบสองมือจับปืนติดดาบเตรียมแทง ขนาดเท่าครึ่งของคนจริง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับยุวชนทหารและทหารไทยที่เสียชีวิตจากการรบกับทหารญี่ปุ่นใน “สงครามมหาเอเซียบูรพา”เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าบรรดาทหารหาญที่พลีชีพ ต่อสู้ข้าศึก เพื่อปกป้องมาตุภูมิ ชาวนครศรีธรรมราชให้ความเคารพนับถือองค์พ่อจ่าดำเป็นอย่างมากจะมีการมาบนบานศาลกล่าวต่อองค์พ่อจ่าดำเป็นประจำ และทุกๆวันอังคารและวันเสาร์ก็จะพบเห็นผู้คนมาสักการะเพื่อเป็นการแก้บนหลังได้รับสิ่งที่ขอแล้ว

ในสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เหตุการณ์การสู้รบในวันนั้น กองทัพไทยต้องสูญเสียกำลังทหาร และยุวชนทหารช่วยรบในจังหวัดปัตตานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมกว่า 100 นาย ดังปรากฏนามจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ทั้ง 6 ด้านอนุสาวรีย์จ่าดำ หรืออนุสาวรีย์วีรไทย ยังยืนตระหง่านบนจุดที่ได้สู้รบปกป้องปฐพีไทยสืบมา

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับญี่ปุ่นที่โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพร้อมกันที่สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และปราจีนบุรี โดยที่ฝ่ายไทยไม่คาดคิด

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของภาคใต้ คือมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลานั้นมีพลตรีหลวงเสนาณรงค์เป็นผู้บัญชาการมณฑล เช้าวันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์ นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบประมาณ 15 ลำ มาลอยลำในอ่าวสงขลา และได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลา พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการรับศึกและสั่งให้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองทัพสงขลาโดยด่วน ขณะเตรียมการอยู่นั้น ก็ได้รับแจ้งจากพลทหารว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน ผู้บัญชาการมณฑลจึงสั่งการให้ทุกคนทำการต่อสู่เต็มกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด

การสู้รบระหว่างทหารไทย ยุวชนทหาร กับทหารญี่ปุ่นเป็นไปในลักษณะประจัญหน้า ผบ.มณฑล ได้สั่งการให้เปิดคลังแสงและจ่ายอาวุธปืนเล็ก ปืนกล และปืนประสุนให้แก่ทุกคนที่ยังไม่มีอาวุธประจำกาย และประกาศให้ทุกคนทำการสู้อย่างเต็มสติกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด ผู้ที่ไม่มีผู้บังคับบัญชาแน่นอน ก็ให้เข้าสมทบกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งซึ่งประจำอยู่ตามแนวต่างๆ ในหน่วยร.17 พอคำสั่งด้วยวาจาไม่ว่าจะเป็นคำสั่งประกาศขาดคำลง ผู้รับคำสั่งทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่าได้รีบลงมือปฏิบัติตามโดยทันที โดยมิได้มีการสะทกสะท้านหวาดกลัว หรือแสดงอาการตื่นเต้นลังเลแม้แต่น้อย

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ของร้องรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการ ต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมี จอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทย

เวลาประมาณ 11.00 น. เศษ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับสำเนาโทรเลขคำสั่งให้ยุติการรบ การต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจึงสงบลง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 สั่งให้นำกำลัง ยุวชนทหารกลับ และติดต่อให้ญี่ปุ่นส่งผู้แทนมาเจรจา เพื่อตกลงกันในรายละเอียด ผลการเจรจายุติการรบ โดยสรุป มีดังนี้

1. ญี่ปุ่นขอให้ถอนทหารไทยจากที่ตั้งปกติไปให้พ้นแนวคลองสะพานราเมศวร์ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพราะญี่ปุ่นต้องการใช้สนามบินโดยด่วน
2.ในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยอาศัยตาม โรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการเป็นต้น
3. ฝ่ายไทยขอขนอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุน และวัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม
4. ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่ได้มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย

ฝ่ายไทยสูยเสียชีวิต 38 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 3 คน นายทหาร 3 คน พลทหาร 32 คน ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ทราบจำนวน ภายหลังเสร็จสิ้นสงครามมหาเชียบูรพา ประชาชนและข้าราชการได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ วีรไทย(พ่อจ่าดำ) เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึก ซึ่งออกแบบปั้นโดยนายสนั่น ศิลากรณ์ ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยนั้น และได้ประดิษฐานในค่าย วชิราวุธเมื่อ พ.ศ.2492

ยีลาปัน สะพานร้าง อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่2


ยีลาปัน สะพานร้าง อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่2

สะพานยีลาปัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี บนทางหลวงท้องถิ่น เลขที่ 410 บ้านยีลาปัน ตำบลตะลิ่งชัน อำเภบันนังสตา จังหวัดยะลา มีความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร พื้นสะพานเป็นเหล็กแบบรังผึ้ง ตัวโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กกล้าล้วนๆ สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวๆ ปี พ.ศ. 2485 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกแถวชายฝั่งภาคใต้และยึดครองแหลมมาลายู หรือประเทศสหพันธรัฐมาเลเชียในปัจจุบัน

ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รัฐบาลจำต้องยินยอมจับมือกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อแลกกับการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งทรงอนุภาพมากที่สุดในยุคนั้น โดยญี่ปุ่นต้องการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อขนยุทโธปกรณ์และกำลังพล ไปโจมตีประเทศพม่า และเพื่อยึดครองอินเดียอนานิคมของอังกฤษ ซึ่งในสมัยนั้น การคมนาคมยังไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีตรงจุดนี้ เป็นเพียงสะพานไม้ขอน ซึ่งไม่สามารถขนส่ง ลำเลียงยุทโธปกรณ์ที่มีน้ำหนักจำนวนมากผ่านไปได้ กองทัพญี่ปุ่นได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่นั้นมา รถทุกคันที่เดินทางไปอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จึงต้องวิ่งผ่านสะพานแห่งนี้ทุกคัน จนกระทั้งในปี 2538 แขวงการทางยะลา ก็ได้สร้างสะพานคอนกรีตขึ้นมาทดแทนเนื่องจากสะพานยีลาปัน แคบไม่สะดวกในการสัญจร โดยในช่วงนั้นมีข่าวลือว่า ญี่ปุ่นจะเอาสะพานคืน จึงมีการสร้างใหม่เพื่อนทดแทนของเดิม สะพานยีลาปัน จึงปิดตัวเองลง และกลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเตือนใจให้ชาวยะลาและชาวโลกได้รับทราบถึงความโหดร้ายของสงคราม


วันนี้ สะพานยีลาปัน ยังคงอยู่ ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายสายลม แสงแดด และสถานการณ์ไฟใต้ วันหน้าหากเหตุการณ์สงบ หากบ้านนี้เมืองนี้หันหน้าเข้าหากัน เราคงได้เห็นกรุ๊ปนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ชาวอังกฤษ ได้มายืนถ่ายรูป มายืนรำลึก ซึมซับ ถึงอดีตกาล ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเขาได้มาใช้ชีวิต เป็นแรมปีก็ได้



ขอบคุณข้อมูลจาก oknation.net/blog/localbetong

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี

เมื่อ พ.ศ. 2126 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกทัพไปตีเมืองอังวะ และเกณฑ์ทัพไทยขึ้นไปด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระนเรศวรคุมทัพขึ้นไปช่วย แต่ยกไปไม่ทันตามกำหนดเป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงเกิดความระแวงจึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาหาทางกำจัดสมเด็จพระนเรศวร

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงเมืองแครง ทรงพักทัพอยู่
ใกล้วัดของพระมหาเถรคันฉ่องสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปนมัสการพระมหาเถรคันฉ่อง พระมหาเถรคันฉ่องจึงได้ทูลเรื่องความลับที่พระมหาอุปราชาให้พระยาเกียรติ พระยาราม หาทาง
กำจัดพระองค์

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ ก็ทรงพิโรธมากที่พระเจ้านันทบุเรงคิดทำแบบนี้ สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้แม่ทัพนายกองมาประชุม และให้นิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมคณะสงฆ์ มานั่งเป็นสักขีพยานที่พลับพลา จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดิน ประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นกับหงสาวดีอีกต่อไป ทรงตรัสว่า

"ขออัญเชิญเทพยดา อันมีมหิทธิฤทธิ์ ทิพยจักขุ ทิพยโสต จงลงมาเป็นทิพย์พยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีคิดไม่ซื่อ ประพฤติพาลทุจริต เสียสามัคคีรสธรรม นับแต่บัดนี้ กรุงพระมหานครศรีอโยธยาและหงสาวดี หาได้เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกันเฉกเช่นกาลก่อน ขาดกันแต่นี้ไป ตราบชั่วกัลปาวสาน"

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่าแล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จก็ทรงยกทัพจากเมืองแครงไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6

วันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า


18มกราคม วันกองทัพไทย วันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า
วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135

ในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย

เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน

สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า
"พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"

พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน

เดิมนั้นกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม

พิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต


พิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต

พิธีโล้ชิงช้า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระยายืนชิงช้า ไปถึงเสาชิงช้า ก็จะเข้าไปนั่งในโรงราชพิธี จากนั้นให้ผู้ที่จะโล้ชิงช้าขึ้นชิงช้าทีละ 4 คน(โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน มือสอดเชือกไว้ อีกสองคนอยู่หัวท้ายมีเชือกจับมั่นคง ถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง

ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น คนที่อยู่หัวกระดานเป็นคนฉวย โดยเงินนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ "ตีปีก" เชียร์กันอย่างสนุกสนาน

การโล้ชิงช้านี้สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮา จากคนดูได้

พราหมณ์โล้ชิงช้าแล้วก็ตกลงมาตายทุกปีเป็นที่น่าหวาดเสียวมาก แต่พวกเขาถือว่าได้บุญมากก็เลยไม่ค่อยกลัวตายกัน
ต่อมาก็ทอนเสาให้สั้นลงก็ยังตกลงมาตายอีก ก็เลยต้องยกเลิกไปในที่สุด สำหรับเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ถ้าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูก "ฝัง" ไว้ที่ใต้ชิงช้านั้น เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีการตกหรือได้ฝังใครเลย และไม่มีตำราเล่มไหนบอกไว้ทั้งนั้น คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดๆ ติดมาจากการฝังหลักเมืองมากกว่า


พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่1 และได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

อีอยู่ นักโทษประหาร เรื่องจริงของนักโทษประหารในสมัยรัชกาลที่ 5


อีอยู่ นักโทษประหาร เรื่องจริงของนักโทษประหารในสมัยรัชกาลที่ 5

“ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ” เสียงตะโกนจากนักโทษประหารซึ่งเป็นหญิง เพชฌฆาตหกคนยังคงร่ายรำดาบ ถอยหน้าถอยหลังอยู่เบื้องหลังนักโทษอีกครู่ ก่อนที่เพชฌฆาตมือหนึ่งจะวิ่งเข้าฟันคออย่างแรง จนศีรษะขาด เลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มุงดูการประหารจึงค่อยเริ่ม แยกย้ายกันกลับไป เสียงพึมพำดังจับความได้ว่า ต่างก็พอใจที่ผู้ตายได้รับกรรมที่กระทำไว้แล้ว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเอง!

เพชฌฆาตยังคงทำงานต่อไปด้วยการตัดข้อเท้าซึ่งมีโซ่ตรวนพันธนาการไว้ และตัดศพออกเป็นชิ้น แล่เนื้อออกจากกระดูก ทิ้งตับไตไส้พุงไว้เป็นทานแก่แร้งกา ส่วนศีรษะเอาไปเสียบไม้ไผ่ปักประจานไว้ให้มองเห็นได้แต่ไกล เธอเป็นใครทำผิดอะไรไว้จึงต้องรับโทษถึงเพียงนี้..?
................
ย้อนหลังไปราวเดือนเศษ ที่บ้านของพระบรรฦาสิงหนาท ภรรยาคืออำแดงอยู่ ลักลอบเป็นชู้กับทาสในเรือนชื่อ ไฮ้ มั่วสุมกันอยู่ถึงสองปีเศษโดยตัวสามีไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็คงยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร ถ้าไม่เป็นเพราะอ้ายไฮ้เอง เกิดไปลักลอบได้เสียกับนางทาสอีกคนหนึ่งชื่อ เกลี้ยง หลังจากทั้งคู่สมสู่กันได้สามเดือน ความเรื่องของอำแดงอยู่เป็นชู้กับอ้ายไฮ้ก็เกิดแตกขึ้นมา..

วันนั้นพระบรรฦาฯบังเอินกลับบ้านผิดเวลา จึงจับได้คาเตียง ก็เลยทำโทษอ้ายไฮ้ด้วยการโบย 50ที แล้วล่ามโซ่ไว้ที่ครัวไฟ แต่พระบรรฦาจะทำอะไรอำแดงอยู่บ้าง อันนี้ไม่ได้มีการบันทึก ไว้ ผ่านไปห้าวัน อำแดงอยู่ค่อยๆสืบเสาะหาว่าใครไปรายงานคุณพระผู้เป็นสามี ก็สงสัยว่า อีเกลี้ยงนี่แหละที่น่าจะเอาความไปบอกสามีตนแน่ ประจวบกับวันนั้นกินเหล้า เข้าไปเมาจัดด้วย จึงเรียกนางทาสคนนี้เข้ามาถาม แต่อีเกลี้ยงไม่ยอมรับ นางอยู่จึงเอาไม้แสมตีอีเกลี้ยงเข้าไปหลายที ฐานสงสัยแล้วไม่ยอมรับ

คืนนั้น อีเกลี้ยงไม่รู้ว่าคิดอะไรเหมือนกัน แต่คงไม่พ้นเรื่องชู้รักดันมีรักซ้อนกับเมียนาย แอบเข้าไปที่ระเบียงครัวซึ่งอ้ายไฮ้โดนล่ามโซ่นอนหลับอยู่ จัดการบีบหมับเข้าที่กล่องดวงใจของอ้ายไฮ้อย่างแรงจนตื่น เช้าขึ้นอ้ายไฮ้ก็เลยสำออยไปฟ้องอำแดงอยู่ อำแดงอยู่จึงเรียกอีเกลี้ยงมาถามอีก ว่าทำไมไปบีบของสำคัญของอ้ายไฮ้ คราวนี้เจ้าตัวปฏิเสธเรื่องไปบีบของลับอ้ายไฮ้ แต่ดัน กลับเล่าเรื่องที่ตัวเองได้เสียกับอ้ายไฮ้แทน

อำแดงอยู่ เต้นผางสั่งตีตรวนอีเกลี้ยงทันที แล้วเอาไม้ไผ่ขนาดสามนิ้วยาวศอกเศษ ตีอีเกลี้ยงอีกราวสี่ห้าที ทำแบบนี้ตลอดมาหลายวัน จนวันหนึ่ง อำแดงอยู่ซึ่งล่อเหล้ามาตั้งแต่เช้าแล้ว ก็ใช้ไม้แสมตีอีเกลี้ยงอีก พอตกบ่ายก็แก้ตรวน แล้วสั่งให้ไปหุงข้าว ขณะที่อีเกลี้ยงกำลังนั่งยองๆหุงข้าวอยู่ อำแดงอยู่เข้ามาข้างหลัง ถีบอีเกลี้ยงล้มลงแล้วกระชากผ้าถุงของนางทาสออก เอาไม้แสมที่กำลังติดไฟแดงๆ ทิ่มอวัยวะเพศของนางทาส สองสามที ตกบ่ายราวสี่โมงเศษ ก็เรียกทาสชายหญิงคนอื่นขึ้นมาจับอีเกลี้ยงขึงพรืด จุดไม้ขีดไฟเผาขนที่ลับของอีเกลี้ยงซ้ำอีก

ตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ขณะที่อีเกลี้ยงนางทาสวัย 57 เดินจะลงบันไดไปอาบน้ำ นางอยู่ก็เอาเท้าถีบเธอตกบันได แขนซ้ายหัก แล้วสั่งทาสให้ฉุดกระชากอีเกลี้ยงขึ้นไปบนชานเรือนอีก จนราวสามโมงเช้าเศษของวันนั้น อีเกลี้ยงซึ่งสุดจะทนกับความเจ็บปวดจากการทรมาน จึงขาดใจตาย

เรื่องนี้ พระบรรฦาฯ ทราบเพียงว่าอีเกลี้ยงตายเพราะเป็นไข้ประจุบันเท่านั้น จึงให้อำแดงอยู่บัญชาการทาสอื่นห่อศพให้เรียบร้อย แล้วหามไปให้สัปเหร่อฝัง ตอนแรกทาสที่นำศพมาก็ไม่ยอมแก้ผ้าห่อศพ สัปเหร่อเลยไม่ยอมฝัง ในที่สุดพวกทาสก็ต้องยอมให้สัปเหร่อ ดูศพก่อน แต่พอได้ดูศพแล้ว จรรยาบรรณสัปเหร่อบอกว่า ไม่ยอมให้ฝัง !

ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อหนูไปแจ้งความ จึงเกิดการชันสูตรศพขึ้นก็พบว่า “ ศพอีเกลี้ยงนั้นกระหม่อมยุบกว้าง 2 นิ้ว หน้าบวมช้ำดำเขียว หูข้างซ้ายช้ำบวมมีเลือดไหลออกมาจากหู ยังเป็นคราบติดอยู่ ต้นแขนริมศอกขวา บวมช้ำ และกระดูกหัก ต้นแขนซ้ายบวมช้ำกระดูกหัก อกบวมช้ำ โตกลมหนึ่งนิ้ว สะโพกข้างขวาบวมช้ำดำเขียวเต็มทั้งสะโพก นอกจากนั้นมีแผลที่เกิดจากการตีด้วยไม้รวมเก้าแผล ”

หลังการสอบสวน อำแดงอยู่โดนมาตรการยึดทรัพย์ทั้งหมด และมีพระบรมราชโองการให้ประหาร แต่ก่อนประหารต้องลงโทษเตือนวิญญาณให้จดจำไปถึงชาติหน้า ด้วยการเฆี่ยน 90ทีเสีย ก่อน จึงจะประหาร คำตัดสินเกี่ยวกับคดีนางอยู่และผู้เกี่ยวข้องนี้ เมื่อนำทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นด้วยแต่ได้ทรงทักท้วงบ้างบางกรณี คือ

ให้เฆี่ยนทาสที่เคยช่วยจับขึงพรืดอีเกลี้ยง ให้อีอยู่ ( เปลี่ยนคำนำหน้าจากอำแดงเพราะทำความผิด ) ทำทารุณ คนละ 60 ที ส่วนทาสคนอื่นที่รู้เห็นเหตุการณ์แล้วไม่ยอมแจ้งทาง การให้เฆี่ยนคนละ 30 ที เรื่องนี้ทรงพิจารณาว่า คนเป็นทาสก็ต้องฟังนาย และเรื่องก็เกิดในทันที จึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ เว้นคนที่เอาศพไปฝัง และพยายามปกปิดไม่ให้ตรวจศพ ให้ลงโทษตามที่ว่ามา

อ้ายไฮ้ โดนตัดสินให้เฆี่ยน 50 ที แต่ทรงเห็นว่าความผิดของอ้ายไฮ้คือฐานชู้สาว และก็โดนนายเงินคือพระบรรฦาฯลงโทษไปแล้ว จึงโปรดให้ยกโทษเสีย

ส่วนพระบรรฦาปรับเป็นเงิน 11 ตำลึง กึ่งสลึงเฟื้อง 630 เบี้ยเป็นพิไนยหลวง แต่ในฐานที่รู้อยู่แต่ไม่สนใจ ปกปิดเรื่องศพ เรื่องความร้ายในแผ่นดิน

“ แต่นายหนูผู้มีกตัญญูต่อแผ่นดินมาว่ากล่าวขึ้น จึงได้ทราบเรื่องกัน ” จึงทรงให้เพิ่มโทษปรับพระบรรฦาฯ แล้วนำมาให้เสียแก่นายหนู เป็นเงิน 1 ชั่ง 10 ตำลึงด้วย

วันที่ประหารอีอยู่คือ วันเสาร์ เดือน11 แรม 7 ค่ำ ตรงกับ วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2424 เป็นเวลากว่าร้อยปีล่วงมาแล้ว

ต้นเรื่องนั้นมาจากหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ ออกเมื่อกรุงเทพมหานครมีอายุครบ๑๐๐ปี และบันทึกของนาย Carl Bock นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ที่เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนไทยและได้ไปดูการประหารอีอยู่ด้วย

จากหนังสือ หญิงชาวสยาม โดย เอนก นาวิกมูล

ภาพประกอบ:ทาสในสมัยรัชกาลที่5

มารู้จักสายพันธ์ปลาคาร์ฟ เพื่อคนรักปลาตัวจริง

มารู้จักสายพันธ์ปลาคาร์ฟ เพื่อคนรักปลาตัวจริง
   แฟนซีคาร์พ กำเนิดมาจากการกลายพันธุ์ของ Magoi เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการผสมและคัดสายพันธุ์จนมีมากกว่า 80 สายพันธุ์ สายพันธุ์หลักๆ Kohaku: ปลา ที่มีลายแดงบนพื้นขาว กล่าวกันว่าคนเลี้ยงปลาคาร์พมักเริ่มต้นด้วยโคฮากุและลงท้ายที่โคฮากุ โคฮากุ ไทโชซันโชกุ และโชว่าซันโชกุ เป็นสายพันธุ์ที่คนนิยมที่สุด เรียกกันว่า Gosanke (Big 3) Taisho Sanshoku: ปลาที่มีแต้มดำบนลายโคฮากุ เพราะเกิดในยุคไทโชของญี่ปุ่น จึงเรียกว่าไทโชซันโชกุ เรียกสั้นๆว่าไทโชซังเก้ หรือซังเก้ Showa Sanshoku: ปลาที่มีลายเป็นเส้นดำบนลายโคฮากุ เกิดในยุคโชว่าจึงเรียกว่าโชว่าซันโชกุ หรือโชว่า Tancho: ตัน โจ ปลาที่มีสีแดงเฉพาะเป็นดวงกลมตรงหัวของปลา ลายที่เหลือเป็นไปตามสายพันธุ์เช่น Tancho Kohaku, Doitsu Tancho Kohaku, Tancho Showa, Tancho Goshiki เป็นต้น Utsuri mono: อุทซูริ ปลาที่มีลายเส้นสีดำบนสีพื้นสีเดียว เช่น Shiro Utsuri (ขาว) Hi Utsuri (แดง) Ki Utsuri (เหลือง) Bekko: ซันเก้ที่ไม่มีแดง Asagi: ทั้งตัวมีสีฟ้าหรือสีคราม รอยต่อระหว่างเกล็ดลายเหมือนตาข่าย เป็นปลาดั้งเดิมของนิชิกิกอย Shusui: อาซากิด๊อยทส์ Doitsu Koromo: โคฮากุที่มีตาข่ายสีฟ้าบนส่วนที่เป็นลายสีแดง Goshiki: แปล ตรงตัวว่า 5 สี มีตาข่ายสีฟ้าบนลายโคฮากุ บางตัวมีตาข่ายเฉพาะส่วนที่เป็นสีขาว สีแดงและสีฟ้าที่เหลื่อมกันทำให้เกิดเป็นสีม่วงส่วนมากตรงบริเวณหัว เกล็ดไม่มันวาว ซึ่งทำให้ต่างจาก Kujyaku Hikari Muji: ปลาสีเดียวที่มีเกล็ดมันวาวเช่น Ogon, Platinum Hikari Moyo: คือ กลุ่มของสายพันธุ์ที่มีลวดลายบนสีพื้นมันวาว ทั้งนี้ยกเว้นลายดำของกลุ่มอุทซูริเช่น Hariwake-ลายสีทองบนสีพื้นแพล็ทตินั่ม, Kikusui-ฮาริวาเก้ด๊อยทส์ สีแดงจะเข้มกว่าฮาริวาเก้, Yamato Nishiki-ซันเก้ที่มีเกล็ดมันวาว, Heisei Nishiki-ซันเก้ด๊อยทส์ที่มีเกล็ดมันวาว, Kujyaku-โงชิกิที่มีเกล็ดมันวาว Hikari Utsuri: มีลายดำของอุทซูริบนสีพื้นมันวาวเช่น Kin Showa, Gin Shiro Utsuri, Kin Ki Utsuri Matsuba: ปลาที่มีสีดำกลางเกล็ด หากผิวมันจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มฮิคาริ หากผิวไม่มัน อยู่ในกลุ่มคาวาริ Kin Ginrin: ปลาที่มีเกล็ดแวววาวระยิบระยับเหมือนโรยด้วยกากเพชร